เปิดใจ วิธีสร้างสังคมคุณภาพของ ธุรกิจก่อสร้าง ในแบบของบิลค์

“หลังจบวิศวฯ โยธาเมื่อปี 2543 ทำงานเป็นวิศวกรอยู่หน้างานก่อสร้างมาซักระยะ เห็นลู่ทางและมีโอกาสเข้ามา เราคิดว่ามีประสบการณ์คุมงานก่อสร้างได้ ก็น่าเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างเองได้ ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง กำไรคงจะดี ใช้เงินทุนไม่มากด้วย – นั่นคือความคิดของผม ตอนเริ่มต้นทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งผมคิดผิดไปมาก” ไผท ผดุงถิ่น ผู้ก่อตั้ง บริษัท บิลค์ เอเชีย จำกัด

บทเรียนจากการคิดจะเป็น ผู้รับเหมา ไม่ใช่แค่ชอบงานก่อสร้าง เรียนจบมาทางนี้ แล้วจะทำ ธุรกิจก่อสร้าง ให้ประสบความสำเร็จกันได้ง่ายๆ

 

เป็นผู้รับเหมา มันเหนื่อย

กว่าจะส่งงาน บางทีใช้เวลาเป็นปีหรือหลายปี ระหว่างนั้นมีเรื่องที่ต้องจัดการ ทั้งคน ทั้งวัสดุ งานเอกสาร งานจัดซื้อจัดจ้าง เผลออีกทีก็ครบเดือนถึงเวลาหางานจ่ายค่าแรง ครบดีลจ่ายค่าวัสดุอีกแล้ว ถ้าเป็นเรื่องที่อยู่ในความควบคุมได้ก็ยังถือว่าดี แต่มีหลายเรื่องที่ไปควบคุมมันไม่ได้ อย่างเช่น ฝนตกน้ำท่วม ผู้รับเหมาช่วงทิ้งงาน ดราม่าหุ้นส่วน แถมมีเรื่องวุ่นหน้างานอีกสารพัด

เมื่อมีปัญหา บางทีก็ส่งผลให้งานล่าช้าออกไป หรือต้องอัดเงินลงมาเพิ่มให้งานจบ ถ้าโชคร้ายหน่อยเจอเจ้าของโครงการดึงเงินจ่ายช้า แทนที่จะไปทำงานก่อสร้าง ก็ต้องเอาเวลามาหมุนเงินกันสนุกสนาน ซึ่งนี่เป็นที่มาของชื่อเสีย(ง)ของผู้รับเหมา ว่างานช้า ทิ้งงานบ้าง โกงบ้าง ถึงขั้นมีหนังสือเกี่ยวกับวิธีรับมือผู้รับเหมาขี้โกงวางขาย

กลายเป็นว่ามีคนมองผู้รับเหมาเป็นอาชีพที่ไม่น่าเชื่อถือ ทั้งๆ ที่แต่แรกคงไม่มีผู้รับเหมาคนไหนที่ตั้งใจจะเกิดมาอยากโกง เกิดมาทิ้งงาน ก็คงอยากจะสร้างงานก่อสร้างที่ดีทั้งนั้น แต่เราเข้าใจดีว่ามันมีความเสี่ยงเยอะแยะ ที่ทำให้งานไม่เสร็จตามเวลาและงบประมาณที่คิดไว้จริงๆ

 

เริ่มจากทำโปรแกรมควบคุมต้นทุนงานก่อสร้างใช้เองได้ แล้วอยากแบ่งคนอื่นใช้

เรามีความคิดที่ว่า เทคโนโลยีน่าจะช่วยให้ทำงานก่อสร้างให้เสร็จตามงบประมาณได้ เลยชวนเพื่อนๆ วิศวกรคอมพิวเตอร์ที่ทำงานด้านเทคโนโลยีมาพัฒนาโปรแกรมควบคุมต้นทุนงานก่อสร้างกัน พอแก้ปัญหาต้นทุนให้ตัวเองได้แล้ว ก็อยากจะแบ่งปันเพื่อนร่วมวงการก่อสร้างให้มีระบบคุมต้นทุนบ้าง

BUILK.COM จึงเกิดขึ้นมาเมื่อปี 2553 ให้ผู้รับเหมาใช้ คุมต้นทุนออนไลน์แบบมืออาชีพ ด้วยความที่เป็นผู้รับเหมา SMEs มาก่อน จึงเข้าใจว่า ผู้รับเหมา คงจะคิดหนักเรื่องการซื้อซอฟต์แวร์มาใช้งาน จะคุ้มค่ามั้ย? เก็บเงินไว้ซื้อเครื่องจักรใช้ที่หน้างานดีรึเปล่า? ดังนั้นแทนที่จะขายซอฟต์แวร์ หรือ เก็บค่าบริการรายเดือน เราจึงให้ใช้ซอฟต์แวร์ระบบบริหารธุรกิจกันฟรีๆ ไม่มีกั๊ก แล้วหารายได้จากค่าโฆษณาและงบการตลาด ของแบรนด์วัสดุก่อสร้างแทน คล้ายๆ กับ เฟสบุ๊ค หรือ ยูทูบ ที่เราคุ้นเคยกันดี

 

ผ่านมา 7 ปี แล้ว เกิดอะไรขึ้นบ้าง?

 

ช่วง 5 ปีแรก เราได้รางวัลธุรกิจ Startup ระดับประเทศ รวมถึงระดับภูมิภาคมามากจนโด่งดังในวงการธุรกิจนวัตกรรม ส่วนสมาชิก ผู้รับเหมา ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งไทย ลาว อินโดนีเซีย และพม่า จนเราต้องขยายพื้นที่เก็บข้อมูลจาก Server ในประเทศ มาใช้ ระบบคลาวด์ของ Amazon และขยายทีมโปรแกรมเมอร์มาปรับปรุง อัพเดท เพิ่มฟีเจอร์ และดูแลความปลอดภัยระบบให้กับผู้ใช้โปรแกรมอย่างต่อเนื่อง

เมื่อผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น รายได้จากค่าโฆษณาอย่างเดียว คงไม่พอกับค่าพัฒนารักษาโปรแกรมที่เพิ่มขึ้นปีละหลายล้านบาท เราก็ขยับโมเดลธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจ e-Commerce สำหรับวงการก่อสร้างในปี 2558 โดยเปิด ร้านวัสดุออนไลน์แบบ B2B (เน้นขายเฉพาะลูกค้าธุรกิจ) ขึ้นมาบนบิลค์ ใช้ชื่อว่า Yello Smart Purchase ขายวัสดุก่อสร้างราคาถูกสำหรับเพื่อนสมาชิกบิลค์ และเป็นรายได้อีกช่องทางของเรา เนื่องจากเรามีสมาชิกผู้รับเหมาทั่วประเทศที่จะซื้อวัสดุออนไลน์ผ่านระบบเป็นประจำ จึงเริ่มดีลวัสดุก่อสร้างราคาถูกตรงจากโรงงานผู้ผลิตโดยตรง ไม่บวกค่าดำเนินการและกำไรมาก เพราะเราไม่มีหน้าร้านและสต๊อคสินค้า จึงทำราคาได้ดีกว่า และเป็นอีกตัวช่วยในการลดต้นทุนค่าวัสดุของผู้รับเหมาได้

ในปี 2560 นี้ Yello Smart Purchase เติบโตขึ้น ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างชั้นนำ และที่สำคัญด้วยการสนับสนุนของเพื่อนสมาชิกบิลค์ทั่วประเทศ เราจัดส่งวัสดุก่อสร้างทุกชนิด ทั้งวัสดุโครงการและสถาปัตย์ให้นับร้อยไซต์งาน ด้วยแนวคิด “รวมกันซื้อ-รวมกันเซฟ” ทำให้โมเดลธุรกิจของ BUILK.COM แข็งแรงขึ้น และเติบโตอย่างมั่นคง

 

วงการก่อสร้างจะดีขึ้น ถ้าธุรกิจก่อสร้างทำงานมีระบบ ร่วมกันสร้างสังคมคุณภาพ

งานก่อสร้างไม่ได้ทำได้ด้วยตัวคนเดียว มันจะดีแค่ไหนถ้าเพื่อนร่วมงานมีฝีมือ มีคุณภาพ

สังคมคุณภาพเกิดจากคนมีคุณภาพอยู่ด้วยกัน บิลค์จะช่วยทำให้สังคมนี้เกิดขึ้นด้วยการสร้างเครื่องมือบริหารต้นทุนงานก่อสร้าง BUILK Cost Control ให้ ผู้รับเหมา ใช้ฟรีๆ ผ่านเว็บไซต์ มีสื่อการสอนออนไลน์ ให้เรียนรู้เองได้ มีการอบรมทั่วประเทศ

เราอยากให้ผู้รับเหมาบริหารต้นทุนกันให้ได้ดีขึ้น บริหารธุรกิจบนข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทำธุรกิจมีกำไรเยอะๆ ธุรกิจเติบโต รวมถึงประหยัดเวลางานเอกสาร ใช้ระบบจัดการ แล้วเอาเวลาไปเอาใจใส่ดูแลหน้างานก่อสร้างดีกว่า

พอมีผู้รับเหมา คุณภาพเป็นสมาชิกมากๆ เราก็อยากให้ได้มีโอกาสร่วมงานกัน จึงมี BUILK Company Profile ให้มาทำ โปรไฟล์งานก่อสร้างออนไลน์ สร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจด้วยผลงานก่อสร้าง และระบบให้คะแนน พอต้นปีของทุกปีเราก็จัดงาน Construction United เชิญ BUILK Pro Network หรือ ผู้รับเหมาที่ใข้ระบบต้นทุนเก่งๆ มาร่วมงาน เจอะเจอกัน รู้จักกัน เกิดเป็น สังคมผู้รับเหมา คุณภาพ ที่น่าเชื่อถือไว้วางใจ เพราะอย่างน้อยทุกคนก็มีระบบบริหารจัดการต้นทุนของตัวเอง

พอเราเห็นใครดีเราก็เชิดชูให้เป็น ตัวอย่างที่ดี ของสังคมคุณภาพที่เราสร้างอยู่นี้ สมาชิกหลายคนก็พร้อมให้คำแนะนำ ช่วยเหลือเพื่อนผู้รับเหมาด้วยกัน เกิดความเป็นพี่น้อง เพื่อนฝูงขึ้นมา

เติบโตไปพร้อมวงการก่อสร้าง ต่อจากนี้

ถึงสมาชิกบิลค์ตอนนี้นับได้เป็นหมื่นกิจการ แต่มี ธุรกิจก่อสร้าง ผู้รับเหมา เจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ เกือบพันกิจการ เท่านั้นที่สามารถใช้ BUILK Cost Control คุมต้นทุนกัน “ทุกวัน” ได้จริงๆ

เราเข้าใจดีว่า มันยาก ทีจะ เปลี่ยนพฤติกรรมองค์กร หรือกระทั่งตัว ผู้บริหารธุรกิจผู้รับเหมา เองให้มาใช้ระบบบริหารต้นทุนให้เป็นนิสัย เพราะมันใช้ความพยายาม ใช้วินัย ความร่วมมือกันของทุกคนในองค์กร ความสามารถในการสื่อสารและความเป็นผู้นำของผู้บริหารที่มากพอจะ นำความเปลี่ยนแปลงเข้าไปในกิจการ บางครั้งเราเห็นผู้รับเหมา เกิดปัญหาในการบริหาร ต้นทุนคุมไม่อยู่แล้ว เพิ่งจะมานึกถึงระบบ และบ่นเสียดายว่าทำไมไม่ใช้ตั้งแต่แรก

ถึงการเปลี่ยนแปลงภายใน ธุรกิจก่อสร้าง จะเป็นเรื่องยาก แต่เราเชื่อว่าเป็นไปได้
เพราะมีตัวอย่างที่ทำสำเร็จมากมาย ดูได้จากจำนวน BUILK Pro Network เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วประเทศ

เรายังคงจะสร้างสังคมคุณภาพของผู้รับเหมา ต่อไป มีระบบบริหารธุรกิจให้ใช้ฟรี มีพื้นที่ที่ให้สร้างโปรไฟล์ออนไลน์ มี กิจกรรมให้ผู้รับเหมาคุณภาพพบปะ และ สร้างสรรค์เทคโนโลยี ที่ลดต้นทุน เพิ่มกำไร ประหยัดเวลา ออกมาเรื่อยๆ ตามคำแนะนำของสมาชิก BUILK Pro Network

เพื่อช่วยกันสร้างสังคมคุณภาพของ ผู้รับเหมา ที่เข้มแข็งให้กับวงการก่อสร้างทั้งในประเทศไทย และอาเซียน

 

– เขียนครั้งแรก – กรกฎาคม 2557
– เพิ่มเติมครั้งที่ 1 – เมษายน 2560